เคยมีคนบอกว่า การเริ่มต้นงานทุกงานต้องเริ่มจากการฝืนและฝืนเพื่อให้ทำได้ต่อไป ต้องทนให้ได้ ถึงทนไม่ได้ก็ต้องทน เพราะเมื่อผ่านไปถึงจุดที่เรียกว่าชินนั่นแหละ คือการก้าวสู่ย่านของความสำเร็จเบื้องต้นแล้ว แล้วคุณว่าทฤษฎีนี้มันจริงรึเปล่า?
- ซึ่งเส้นทางเดินของผู้ประสบความสำเร็จแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่จะมีวิธีการที่คล้ายกันแทบทุกคน และเมื่อลองศึกษาดูจะพบว่าเป็นไปตามคำสอนของศาสนาพุทธบทหนึ่งซึ่งเป็นข้อความง่ายๆ ไม่กี่ข้อ
กฎทองคำ 4 ข้อหรือหัวใจหลักของอิทธิบาท 4
- ฉันทะ รักในสิ่งที่ทำ รักในงานที่ทำ ถ้าเรารักงานที่ทำ เราจะทำอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ไม่มีใครอยากทำงานที่ไม่ชอบ ความพอใจในเนื้องานของแต่ละคนก็ต่างกัน บางคนชอบงานคิดคำณวนประมาณการยากๆ บ้างชอบติดต่อสื่อสาร หรือบางคนไม่ชอบสุงสิงกับใครขอนั่งคิดคนเดียว
- ตอนเริ่มงานใหม่ๆ จะยังไม่รู้ตัวว่ารักจะทำงานอะไร แต่เมื่อผ่านไปสักพัก ก็จะเจอว่าตัวเองอยากทำอะไร เมื่อค้นหาตัวเองเจอก็พยายามเลือกทำงานที่ตัวเองพอใจ เพื่อให้เกิดฉันทะในงาน
- วิริยะ พากเพียร เมื่อได้ทำงานที่รักอยากจะทำ ความพากเพียรหรือความพยายามอย่างสุดๆจะเกิดขึ้นโดยไม่ต้องบิ๊ว หรือเกิดความอึด ถึก ทน โดยไม่ต้องพยายาม ซึ่งคำว่า วิริยะ ยังมีความหมายถึงความกล้าหาญอยู่ด้วย ต้องคอยระลึกอยู่เสมอว่า ถ้าความสำเร็จได้มาโดยง่าย แล้วจะมีใครที่เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จ
- จิตตะ เอาใจใส่ฝักใฝ่ ไม่ละทิ้งเป้าหมายที่มุ่งหวังไว้ ไม่ทำเป้าหมายหล่นกลางทาง ไม่หลงลืมวัตถุประสงค์ ไม่สนใจในคำสบประมาทของใคร มีสมาธิกับสิ่งที่ทำอยู่อย่างเต็มที่
- ลองคิดถึง กาลิเลโอ กับ ทฤษฎีโลกกลม, ผู้พันแซนเดอร์ กับ สูตร ไก่ทอด เคเอฟซี, สตีฟ จ๊อปส์ กับ แอปเปิ้ล ทุกคนที่กล่าวถึงนี้ พวกเขาไม่เคยละทิ้งเป้าหมาย ถึงแม้ว่าตอนแรกทุกสิ่งไม่ได้สวยงามอะไรเลย
- วิมังสา มีความหมายของคำว่าปัญญา หมั่นสอดส่องในเหตุผลและผลที่จะไปสู่ความสำเร็จ ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องที่ต้องทำให้รู้ลึกซึ้งมากขึ้นอยู่ตลอดเวลา
- ประเด็น คืองานที่เราเลือกนั้นเราฝืนใจเลือกหรือไม่ ถ้าเราเลือกทำในสิ่งที่เราไม่อยากทำ ข้ออื่นๆ อาจจะไม่เกิดขึ้น หรืออาจจะเกิดบางข้อ แต่เป็นไปอย่างไม่สมบูรณ์ หรืองานที่เราเลือกนั้นเราไม่ถนัด และเลือกเพียงเพราะอยากตามเพื่อน หรือตามสมัยนิยม ก็อาจทำให้เรื่องง่ายเป็นเรื่องยาก เพราะนั่นหมายถึงเรายังไม่เข้าใจแม้แต่ตัวเราเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น