Search

วันจันทร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ใครบ้างที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

สิ่งแรกที่ควรรู้เกี่ยวกับการเสียภาษีเงินได้ตามกฎหมายคือเงินได้พึงประเมินมีอะไรบ้าง

"เงินได้พึงประเมิน"

คือ เงินได้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือ เงินได้ที่เกิดขึ้นในปีภาษีได้แก่


  1. เงินที่ได้รับจริง
  2. ทรัพย์สินซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน เช่น ที่ดินมรดก
  3. ประโยชน์ซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน เช่น ได้รางวัลไปต่างประเทศจากบริษัทจะถูกคำนวณเป็นเงินและรวมในรายได้
  4. เงินค่าภาษีอากรที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้
  5. เครดิตภาษีตามที่กฎหมายกำหนด
ปีภาษีใดๆ คือวันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม

หากเงินได้เกิดขึ้นในปีใดก็ให้ยื่นแบบแสดงรายการในปีนั้นและต้องยื่นแบบฯ ให้ทันภายในวันที่ 31 มีนาคมของปีถัดไปซึ่งปกติยื่นปีละครั้ง

ยกเว้นเงินได้บางลักษณะที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการสำหรับเงินได้ที่เกิดขึ้นใน 6 เดือนแรก ตอนกลางปีให้ทันภายในเดือนกันยายน ของทุกปี เช่น การให้เช่าทรัพย์สิน,เงินได้จากวิชาชีพอิสระ, การรับเหมา, ธุรกิจ การพาณิชย์

และกฎหมายแบ่งผู้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้ฯ ออกเป็นหน่วย เรียกว่า "หน่วยภาษี" ดังนี้

  1. ผู้มีรายได้เป็นบุคคลธรรมดาใครก็ตามที่มีรายได้โดยไม่เลือกว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ หรือ คนชรา,คนไทยหรือชาวต่างชาติ หากเงินได้นั้นถึงเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด และเงินได้นั้นไม่เข้าข่ายที่ได้รับการยกเว้นภาษี ล้วนมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

  2. ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ประกอบไปด้วยบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ตามกฎหมายถือเป็นหน่วยภาษีแยกต่างหากจากบุคคลธรรมดาผู้เป็นหุ้นส่วน ต่างกันตรงวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง คือ ห้างหุ้นส่วนสามัญมุ่งค้าหากำไร จากการประกอบกิจการ แต่คณะบุคคลมิได้มุ่งค้าหากำไร

  3. ผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษีหมายถึงบุคคลธรรมดาที่มีเงินได้พึงประเมินและได้เสียชีวิตระหว่างปีภาษี การยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในกรณีนี้ ให้ยื่นในนามผู้ที่เสียชีวิตระหว่างปีภาษี

  4. กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่งกรณีที่บุคคลธรรมดาได้เสียชีวิตโดยมีทรัพย์สินที่ยังไม่ได้แบ่งในปีถัดจากปีที่เสียชีวิตและทรัพย์สินนั้นมีเงินได้พึงประเมินเกิดขึ้น เมื่อทรัพย์สินนั้นยังไม่ได้แบ่งให้กับทายาทหรือผู้รับมรดก เงินได้ที่เกิดขึ้นในภายหลังนั้นต้องเสียภาษีในกองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง

  5. วิสาหกิจชุมชน ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน หมายถึงกิจการของชุมชนเกี่ยวกับการผลิตสินค้า การให้บริการหรือการอื่น ๆ ที่ดำเนินการโดยคณะบุคคลที่มีวิถีชีวิตและความผูกพันร่วมกัน และรวมตัวกับประกอบกิจกรรมดังกล่าว เพื่อสร้างรายได้และเพื่อการพึ่งพาตนเองของครอบครัวชุมชนและระหว่างชุมชน เฉพาะที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล

เกณฑ์เงินได้พึงประเมินและแบบแสดงรายการที่ต้องยื่นเสียภาษี

money flower
  • ผู้มีเงินได้ตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นเงินได้ประเภท เงินเดือน ค่าจ้าง ใช้แบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.91 ในการยื่นเสียภาษีประจำปี

    • คนโสดไม่มีสามีหรือภริยา(ตามกฎหมาย)และมีรายได้ในปีที่ผ่านมาเกิน 50,000 บาท
    • ผู้มีเงินได้ที่สมรสแล้ว สามีหรือภริยามีเงินได้พึงประเมินฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายรวมกัน ในปีที่ผ่านมาเกิน 100,000 บาท

  • ผู้มีเงินได้ตามมาตรา 40(2)-(8) ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินที่ไม่ใช่ เงินเดือน ค่าจ้าง ใช้แบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.90 หรือผู้ที่มีเงินได้ประเภทเงินเดือน,ค่าจ้างและยังมีเงินได้พึงประเมินตามมาตราอื่นๆ ก็ใช้ ภ.ง.ด.90 ในการยื่นเสียภาษี

    • คนโสดไม่มีสามีหรือภริยา(ตามกฎหมาย)และมีรายได้ในปีที่ผ่านมาเกิน 30,000 บาท
    • ผู้มีเงินได้ที่สมรสแล้ว(สามีหรือภริยามีเงินได้พึงประเมิน)ในปีที่ผ่านมาเกิน 60,000 บาท

  • กองมรดกของผู้ตายที่ยังไม่แบ่งเกิน 30,000 บาท
  • ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลเกิน 30,000 บาท
  • ผู้มีเงินได้พึงประเมินถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี แม้ว่าเมือคำนวณแล้วจะเสียภาษีหรือไม่เสียภาษีก็ตาม
เมื่อมีเงินได้ถึงเกณฑ์ตามกฎหมายกำหนด ควรจะรู้ว่า เราควรเสียภาษีในนามใดและต้องใช้แบบแสดงรายการภาษีอย่างไรให้ถูกต้อง การปฎิบัติไม่ถูกต้องจะทำให้เสียเวลากับการตามแก้ปัญหาในภายหน้า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น